หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาชุมชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เกี่ยวกับเรา

ประวัติความเป็นมา

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาชุมชน
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วัตถุประสงค์

เพื่อผลิตมหาบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยาชุมชน ให้เป็นผู้มีความรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน

ผลลัพธ์การเรียนรู้ของหลักสูตร หลักสูตร

PLO1 สามารถสื่อสารเพื่อโน้มน้าวใจกลุ่มเป้าหมายได้
PLO2 สามารถสร้างความร่วมมือและประสานงานกับคนในชุมชนได้
PLO3 สามารถวิเคราะห์ปัญหาในชุมชนแล้วจัดทำโครงการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิต/คุณภาพชีวิตได้
PLO4 สามารถผลิตงานวิจัยจากการประยุกต์ความรู้ด้านจิตวิทยาชุมชนไปใช้ได้

ประวัติความเป็นมา

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาชุมชน เริ่มใช้มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2545 และทำการปรับปรุงหลักสูตรตามเกณฑ์มาตรฐานของ สกอ. เพื่อให้หลักสูตรมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานและทันสมัย ต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และชุมชน นอกจากนั้นหลักสูตรฯ มีการมุ่งเน้นการบูรณาการความรู้ในสาขาวิชาจิตวิทยาชุมชนเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี
ในปี พ.ศ. 2548 หลักสูตรฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงเพื่อให้การศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาชุมชน มีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม และสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมทั้งสามารถตอบสนองความต้องการของบุคลากรในหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนได้ โดยการปรับปรุงแก้ไขครั้งนี้เริ่มใช้กับนิสิตปีการศึกษา 2551 เป็นต้นไป

ในปี พ.ศ. 2553 หลักสูตรฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2552 โดยพิจาณาจากผลการวิจัยสถาบันและปรับปรุงหลักสูตรให้ตอบสนองความต้องการบุคลากรจิตวิทยาชุมชนของหน่วยงานต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการนำความรู้ทางจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหา และสถานการณ์ความขัดแย้ง รวมทั้งปัญหาสังคมอื่นๆ โดยมุ่งหวังให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติการจิตวิทยาชุมชนเชิงรุก และเน้นการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ในสังคม โดยการปรับปรุงแก้ไขครั้งนี้เริ่มใช้กับนิสิตปีการศึกษา 2556 เป็นต้นไป

ในปี พ.ศ. 2558 ได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับผลการวิจัยสถาบัน โดยเน้นพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถในการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตของคนในชุมชน รวมทั้งสามารถเผชิญและแก้ไขปัญหาที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ซับซ้อนได้ นอกจากนั้นหลักสูตรได้ให้ความสำคัญกับมนุษย์ทุกช่วงวัย โดยมุ่งเน้นให้คนมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาคนให้มีความเข้มแข็ง ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีสุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน การปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้ จึงมีการเพิ่มรายวิชาและเนื้อหาองค์ความรู้ ทักษะ และเทคนิคทางจิตวิทยาที่เฉพาะทางมากขึ้น โดยการปรับปรุงแก้ไขครั้งนี้เริ่มใช้กับนิสิตปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป

ความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของหลักสูตร

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาชุมชน เป็นหลักสูตรที่บูรณาการองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาเพื่อการพัฒนาคน และชุมชนให้เข้มแข็ง มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ทันสมัย การพัฒนาทักษะในการปฏิบัติงานด้านจิตวิทยาชุมชน เพื่อให้นิสิตมีศักยภาพในการวางแผน การจัดโครงการเพื่อการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตของบุคคลในชุมชน การพัฒนาองค์กร ชุมชน และสังคม และพัฒนาทักษะด้านการวิจัย สามารถประยุกต์องค์ความรู้จากการวิจัยไปสู่การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งต่อไป